google-site-verification: googlee613b6b5df1f4f78.html
Last updated: 25 มิ.ย. 2564 | 11018 จำนวนผู้เข้าชม |
พระพุทธเจ้าตรัสรู้ “อริยสัจ ๔”
อริยสัจที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้มี ๔ ประการ เราจึงเรียกรวมกันว่า “อริยสัจ ๔” ได้แก่
๑.ทุกข์ ได้แก่ ความไม่สบายกาย ไม่สบายใจ
๒.สมุทัย ได้แก่ สาเหตุของทุกข์คือตัณหาหรือความอยาก
๓.นิโรธ ได้แก่ ภาวะที่ปราศจากทุกข์หรือนิพพาน
๔.มรรค วิธีดับทุกข์หรือวิธีแก้ปัญหา ได้แก่ อริยมรรคมีองค์ ๘ หรือเรียกสั้นๆ ว่า มรรคมีองค์ ๘ คือ (๑) สัมมาทิฐิ เห็นชอบ (๒) สัมมาสังกัปปะ คิดชอบ (๓) สัมมาวาจา พูดชอบ (๔) สัมมากัมมันตะ กระทำชอบ (๕) สัมมาอาชีวะ เลี้ยงชีวิตชอบ (๖) สัมมาวายามะ เพียรชอบ (๗) สัมมาสติ ระลึกชอบ (๘) สัมมาสมาธิ ตั้งจิตมั่นชอบ
--------------------------------------------------------------------
อริยสัจสำคัญอย่างไร?
อริยสัจเป็นหลักธรรมระดับ “หัวใจของพุทธศาสนา” ธรรมทั้งปวงที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงสามารถประมวลลงลงในอริยสัจได้ทั้งสิ้น หากมองในแง่ทฤษฎีความรู้ อริยสัจก็เป็นองค์ความรู้ที่สมบูรณ์แบบด้วยเหตุด้วยผล หากมองในแง่ของการปฏิบัติเพื่อบรรลุมรรคผลนิพพาน อริยสัจก็ถึงพร้อมด้วยภาคปริยัติ (ความรู้) ภาคปฏิบัติ (ประสบการณ์) ภาคปฏิเวธ (ผลของการปฏิบัติ) หากมองในแง่ของความเป็นสัจธรรมสากล (cosmic law) อริยสัจก็เป็นความจริง ที่สมบูรณ์แบบอยู่ในตัวเองตลอดกาล ไม่ต้องแก้ไข ไม่ต้องเพิ่มเติม ไม่ต้องตัดออกแม้แต่ข้อเดียว ซึ่งแตกต่างจากคำสอน หรือองค์ความรู้ของผู้รู้ทั่วไปที่เมื่อเวลาผ่านไปก็แสดงความล้าสมัยออกมาให้ปรากฏ ต้องคอยปรับคอยแก้กันอยู่เนืองๆ หรือมีผู้ค้นพบทฤษฎีใหม่ๆ ขึ้นมาล้มล้างทฤษฎีเก่า อยู่ร่ำไป
-------------------------------------------------------------------
ชาวพุทธจะได้ประโยชน์จากอริยสัจได้อย่างไร?
อริยสัจ ๔ มีประโยชน์นับอนันต์ ประโยชน์ในทางโลก อริยสัจสามารถใช้เป็นวิธีคิด วิธีมอง วิธีแก้ปัญหาได้ทุกกรณี เช่น เมื่อเกิดปัญหาอะไรขึ้นมา ก็ลองพิจารณาด้วยวิธีคิดแบบอริยสัจว่า ๑.นี่คืออะไร (ทุกข์) ๒.มาจากสาเหตุใด (สมุทัย) ๓.ทางออกคืออย่างไร (นิโรธ) ๔.จะลงมือแก้ปัญหาต้องทำอย่างไร (มรรค) คนที่มองปัญหาต่างๆ ด้วยวิธีคิดแบบอริยสัจ จะกลายเป็นนักวิทยาศาสตร์ที่สามารถพิชิตได้ทุกปัญหา โดยไม่ต้องพึ่งพาการบนบานศาลกล่าว ไม่ต้องทรงเจ้าเข้าผี ไม่ต้องทำพิธีตัดเวรตัดกรรม ไม่ต้องอ้างสิ่งศักดิ์สิทธิ์เทวฤทธิ์ปาฏิหาริย์ แต่จะสามารถแก้ปัญหาทุกชนิด ด้วยสติปัญญาสามัญของมนุษย์ธรรมดาๆ นี่เอง
24 ก.ย. 2564
31 พ.ค. 2564